ชาวบ้านตำบลกุดแห่เตรียมลุกฮืออีกครั้งหลังมีกลุ่มบุคคลจะเข้ามาสอบถามเรื่องเหมืองแร่ภูหินกาบแก้ว
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับแจ้งจากกลุ่มชาวบ้านในตำบลกุดแห่ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ว่ามีการรวมตัวกันเพื่อเขียนป้ายผ้าประชาสัมพันธ์รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องไม่เอาเหมืองแร่ และคัดค้านการขอสัมปทานบัตร หลังได้ข่าวว่าจะมีกลุ่มบุคคลเข้ามาสอบถามเรื่องเหมืองแร่ภูหินกาบแก้ว
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ ตำบลกุดแห่ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู พบนางสาวกรรณิการ์ สุวรรณสุขา แกนนำกลุ่มชาวบ้านตำบลกุดแห่ ได้กล่าวว่า ตนเองเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกุดแห่ หมู่ที่ 9 บ้านพรชัย ตนเองก็เป็นชาวบ้านคนนึ่ง ที่เกิดอยู่ที่ตำบลกุดแห่ของเรา ซึ่งปี 2558 พวกเราได้มีการคัดค้านการขอสัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่ไปแล้วรอบนึ่งแล้ว และในวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 ที่จะถึงนี้ได้ข่าวว่าจะมีกลุ่มนายทุน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ ซึ่งจะเข้ามาขอสอบถามชาวบ้านอีกครั้ง
และในวันนี้เราก็ได้กำลังเขียนป้ายผ้าประชาสัมพันธ์ และรวบรวมชาวบ้าน เพื่อจะคัดค้านการทำเหมืองแร่ และไม่เอาสัมปทานเหมืองแร่ทุกชนิด ในเขตตำบลกุดแห่ และในวันที่ 18 ก็ยังไม่รู้ว่าเค้าจะมาอะไรยังไง แต่ก็ได้ยินว่าจะเข้ามาสอบถาม แต่ตอนนี้เรา จะได้รวบรวมกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยไว้ก่อน เพราะเราไม่ต้องการโรงโม่หิน และเหมืองแร่ เราต้องการภูเขาและป่าไม้ เราสามารถเก็บทรัพยากรมาเป็นอาหารให้กับชุมชนเลี้ยงครอบครัวตลอดมา ไม่ต้องมาโยกย้ายที่ดินของเรา ไม่ต้องมาระเบิดหินของเรา เราต้องการจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเราไว้ ต้นไม้ทุกต้นห้ามมาเอาของเราไป นางสาวกรรณิการ์ ฯแกนนำกลุ่มชาวบ้านได้กล่าวทิ้งท้าย
สืบเนื่องเมื่อประมาณปลายปี 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางบ้านสนามชัย หมู่ที่ 6 บ้านสนามชัย ตำบลกุดแห่ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ว่ามีชาวบ้าน 2 หมู่บ้านมารวมตัวกันประมาณกว่า 500 คน ซึ่งในวันนั้นมีการทำประชาพิจารณ์ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของ บริษัท แห่งนึ่งจากจังหวัดอุดรธานี โดยได้มีการชี้แจ้งจากเจ้าหน้าที่, เจ้าของบริษัทที่ขอ ทำความเข้าใจเรื่องขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ การขอประทานบัตร ซึ่งขั้นตอนมีอะไรบ้าง โดยมีการขอใช้เนื้อที่ประมาณ 169 ไร่ 1 งาน 66 ตารางวา
บรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยเฉพาะเวลาที่ผู้นำท้องถิ่น และผู้ขอสัมปทานได้อธิบาย สร้างความไม่พอใจ ให้กับกลุ่มชาวบ้าน ถึงขั้นมีการโห่ร้องอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดเข้าสู่พิธีการของการลงประชามติ ผลปรากฏว่า พี่น้องประชาชนจาก 2 หมู่บ้านประมาณกว่า 500 คน ลงชื่อไม่เห็นด้วย กับการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่
ส่วนผู้เห็นด้วยไม่มีใคร มาลงรายมือชื่อแม้แต่คนเดียว ประชาชนดีใจได้โห่ร้อง บางคนถึงกับร่ำไห้ออกมา ด้วยความปลื้มปีติ ที่รักษาปกป้องพื้นที่ป่าของชุมชนตำบลกุดแห่เอาไว้ได้ โดยทางผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปทางฝ่ายปกครองอำเภอนากลาง แจ้งว่าทางอำเภอไม่ทราบเรื่องที่มีกลุ่มบุคคลจะเข้ามาพื้นที่ตำบลกุดแห่แต่อย่างใด สงสัยจะประสานผู้นำชุมชนโดยตรง คงเป็นทางบริษัทที่จะขอดำเนินการ คงจะส่งทีมงานเข้ามาสอบถามชาวบ้านถึงความเป็นไปได้ หรือไม่อย่างไร ในการจะขอเข้ามาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งนี้ชาวบ้านตำบลกุดแห่ได้อยู่อาศัยทำกิน ในพื้นที่ตรงนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ พื้นที่โดยรวมเป็นป่าอนุรักษ์ เช่น ป่าเก่ากลอยนากลาง มีลำห้วยถ้ำเต่า และลำห้วยเดื่อ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ ไหลลงลำพะเนียงไหลผ่านตัวอำเภอเมือง ลงไปสู่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เกรงว่าหลังจากที่บริษัทที่มาขอสัมปทานได้รับอนุญาตแล้ว จะทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนต้องเปลี่ยนไป ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ดิน ป่าไม้ และแหล่งน้ำ สารเคมีจากโลหะหนักปนเปื้อน และฝุ่นละออง ไหลลงที่ทำกิน แหล่งน้ำ และอาหารของชาวบ้าน อีกทั้งยังกลัวว่าจะก่อให้เกิดมลพิษอีกด้วย ข่าวคืบหน้าผู้สื่อข่าวจะรายงานให้ทราบต่อไป.
#ภาพ/ข่าวและเนื้อหานี้ เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่องานประชาสัมพันธ์ ไม่แสวงหาผลกำไรในทางการค้า.