รอง ผบช.ภ.4 เปิดการฝึกอบรมทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชน
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ที่ลานรวมพล บริเวณด้านหน้าตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู พล.ต.ต.อรรคพงศ์ พิมลศิริ รอง ผบช.ภ.4 ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชน ภ.จว.หนองบัวลำภู โดยมี พล.ต.ต.นิพนธ์ พานิชเจริญ ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู, รอง ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู, หัวหน้าสถานี สังกัด ภ.จว.หนองบัวลำภูและข้าราชการตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน เข้าร่วมพิธี และ พ.ต.อ.ประภาพ ธิติศักดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู( มค 1) และ พันตำรวจโท วิษณุ พิมพ์โพธิ์ รองผู้กำกับการสถานีตำรวจเมืองหนองบัวลำภู ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชน ที่ 1 (ผบ.ร้อย 1) ร่วมในพิธีฯ ดังกล่าว
พล.ต.ต.อรรคพงศ์ พิมลศิริ รอง ผบช.ภ.4 กล่าวว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแผนการฝึกอบรมทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชนระดับตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมกองร้อยควบคุมฝูงชนของหน่วย ให้สามารถรับภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อมีการชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ โดยอาจจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งภายหลังจากการฝึกอบรมแล้ว ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำกองร้อยควบคุมฝูงชน จะมีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการใช้กำลัง (Use of force) และสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตามหลักแนวทางสากล เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก สำหรับการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยในภาคทฤษฎีจะมีวิทยากร มาบรรยายให้ความรู้ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และตามคู่มือการฝึกในแผนรักษาความสงบการชุมนุมสาธารณะ(ชุมนุม 63) ในส่วนของภาคปฏิบัติ จะมีการจำลองสถานการณ์ให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นำเด็ก สตรี และคนชรามาเป็นโล่มนุษย์ในการชุมนุม มีการโห่ร้อง ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงอึกทึกครึกโครม เกิดความสับสน วุ่นวาย เพื่อสร้างความกดดันให้กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ขณะที่ พลตำรวจตรีนิพนธ์ พานิชเจริญ กล่าวว่า การชุมนุมเรียกร้องต่าง ๆ ที่กระทำด้วยความสงบและปราศจากอาวุธนั้น สามารถกระทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ การที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จะเข้าควบคุมสถานการณ์ จะต้องปฏิบัติการโดยคำนึงถึงหลักความปลอดภัยทั้งของตนเองและของผู้ร่วมชุมนุม ตามหลักสิทธิมนุษยชน หลักสากล และที่สำคัญต้องให้เป็นไปตามหลักของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่อาจตกเป็นจำเลยในคดีอาญา หรืออาจตกเป็นจำเลยของสังคมเสียเองก็เป็นได้ จึงจำเป็นต้องให้มีฝึกอบรมทบทวนกำลังพล อย่างสม่ำเสมอ