สิ้นแล้ว พรศักดิ์ ส่องแสง ศิลปินเพลงหมอลำชื่อดังเสียชีวิตด้วยหัวใจวายเฉียบพลัน   

 เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับแจ้ง พรศักดิ์ ส่องแสง หรือนายบุญเสาร์ ประจันตะเสน นักร้องเพลงลูกทุ่งและหมอลำชื่อดังเสียชีวิต เมื่อเวลา 20.40 น. ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จากหัวใจวายเฉียบพลัน ก่อนหน้าเกิดวูบล้มในห้องน้ำที่บ้านพักใน จ.หนองบัวลำภู เวลาประมาณ 19.00 น.และทางญาติรีบนำส่งโรงพยาบาลหนองบัวลำภู ทางทีมแพทย์สุดยื้อชีวิตไว้ได้ ต่อมาได้นำศพกลับมาที่บ้าน 236 ม.14 ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

       โดยบรรยากาศที่บ้านพักมี พระราชวชิรธาดา เจ้าคณะจังหวัดหนองบัวลำภู เจ้าอาวาสวัดวัดพัชรกิติยาภาราม บ้านห้วยเตย ตำบลหนองหว้า อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่พรศักดิ์ ส่องแสง หรือนายบุญเสาร์ ประจันตะเสน เคยไปบวชอยู่ที่วัดด้วย ได้เดินทางมาที่บ้าน ส่วนนางจุฬาวัลย์ ประจันตะเสน อายุ 58 ปี ภรรยาของ พรศักดิ์ ส่องแสง หรือนายบุญเสาร์ ประจันตะเสน อยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ ไม่พร้อมที่จะให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ มีญาติมิตรนั่งปรึกษาหารือเรื่องจะจัดงานศพในช่วงโควิด และผู้ที่ทราบการเสียชีวิตได้เดินทางมาที่บ้าน พรศักดิ์ ส่องแสง หรือ นายบุญเสาร์ ประจันตะเสน เกิดวันที่ 2 พ.ย. 2503 อายุ 61 ปี เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งและหมอลำที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศไทย เจ้าของฉายา "ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร" มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นนักร้องเพลงหมอลำคนแรก ๆ ที่ออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศ พรศักดิ์ ส่องแสง เกิดที่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้อง 6 คน ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหนองหญ้าลังกา ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ในวัยเด็กช่วยพ่อแม่ทำนาที่ บ้านหนองหญ้าลังกา ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แล้วเข้ารับราชการทหาร จากนั้นตั้งวงดนตรีชื่อ "แชมป์อีสาน" บันทึกเทปชุดแรกเมื่อ พ.ศ. 2524 ชื่อชุด "เสือสำนึกบาป"

      ชื่อ พรศักดิ์ ส่องแสง ตั้งให้โดยครูเพลง รักษ์ วัฒนยา หรือ ครูคำหอม พ่อฮ้างน้อย ผู้สนับสนุนให้ตั้งวงดนตรี พรศักดิ์ ส่องแสง มีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 40 ชุด มีชื่อเสียงโด่งดังสูงสุดประมาณปี พ.ศ. 2529-2530 จากเพลง "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ" ออกตระเวนแสดงทั่วประเทศ และออกไปแสดงถึงในต่างประเทศ เคยมีการจัดคอนเสิร์ตประชันกันระหว่าง พรศักดิ์ ส่องแสง กับ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ด้วยดนตรีสองแนวต่างสไตล์มาแล้ว โดยใช้คอนเสิร์ตชื่อว่า "คอนเสิร์ตสองคนสองคม" แสดงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ที่ สนามกีฬาเวโลโดรม หัวหมาก

รางวัลที่ได้รับ
พ.ศ. 2534 - รางวัลพระราชทานลูกทุ่งกึ่งศตวรรษ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
พ.ศ. 2548 - รางวัลมาลัยทองนักร้องยอดนิยม ได้รับพระราชทานศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประจำปีการศึกษา 2547-48
พ.ศ. 2562 - รางวัลสิงหราช สาขาศิลปะการแสดง จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สำหรับผลงานเพลงที่ผ่านมา

อัลบั้ม เสือสำนึกบาป (2524) หนุ่มนานครพนม (2525) ลอยแพ (2526) แม่ของใคร(พระคุณของแม่) (2528) สาวจันทร์กั้งโกบ (2529) คนไกลบ้าน (2530) ผัวเผลอเจอกัน (2536) ลาวอินเตอร์(อวยพรเจ้าภาพ) (2538) เขาลืมเราแล้ว (2538) ทั้งเจ็บทั้งเหม็น (2541) สาวจันทร์ 42 (2542) นั่งไม่ติด (2543) สาวเจ้ยใจจืด (2544) ปลอบใจน้องเล็ก (7 เมษายน 2544) รักบริสุทธิ์ (13 ตุลาคม 2544) รักเต็มร้อย (8 พฤษภาคม 2546) มีเมียเด็ก (5 ตุลาคม 2547) ผู้แพ้รัก (7 สิงหาคม 2548) รวมเพลงดัง 25 ปี 1-4 (2548) มักสาวซำน้อย (2549) พ่อหม้ายใจมาร (25 กันยายน 2549) ลำแพน ยายงก อกหัก (2550) รักกับป๋าพาไปยันฮี (2550) พูดจริงหรือเล่น (2552) แมงหวี่ไม่มีสิทธิ์ (2553) แก้วลืมคอน (2554) 30 ปีทอง พรศักดิ์ลำล่อง (2554)   หยุดเถิดน้ำตา (2555) ขอบใจที่ฮักคนมีเมีย (2557) รักแท้แพ้ทุนนิยม (2559) ซิงเกิ้ล ฟ้าเหงาฝน คนเหงาใจ(ซิงเกิ้ล) (2562) เลาะฮิม(ซิงเกิ้ล) (2562) ซาหลงบั้ง(ซิงเกิ้ล(บันทึกเสียงใหม่-ดนตรีใหม่)) (2562) หูกินแตง(ซิงเกิ้ล) (2562) ใบฟาง(ซิงเกิ้ล) (2562) สาละวันสองฝั่งโขง(ซิงเกิ้ล) (2563) นิทานนกกระจอก(ซิงเกิ้ล) (2563)

ผลงานการแสดงภาพยนตร์  วอนเพลงฝากรัก (2530) รักพี่ดีกว่า (2530) มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2545) เสือร้องไห้ (2548) ยองบ่าง เดอะมูฟวี่ (2560) หลวงพี่มาร์ (2561)